Summary:
บทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ หังสพฤกษ์
ผมเกิดวันที่ 1 มกราคม 2478 เป็นชาวจังหวัดสงขลา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ศึกษาที่ โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา โรงเรียนเดียวกับที่ท่านพลเอกเปรมศึกษา และมาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นักเรียนที่มาจากโรงเรียนที่ผมเรียนก็เข้ามาเรียนหลายคน แล้วเราก็มาเรียนอยู่ห้องที่เรียกว่าห้องคิงของโรงเรียนเตรียมฯ กันหลายคน นั่นก็ทำให้เห็นว่าโรงเรียนมหาวชิราวุธมีมาตรฐานสูงทีเดียวนะครับ หลังจากที่อยู่โรงเรียนเตรียมฯ ก็สอบได้ที่ 9 ของประเทศไทย แล้วจึงเข้าศึกษาต่อที่จุฬาฯ คณะแพทย์ศาสตร์ ไปเรียน วิทยาศาสตร์การแพทย์ เรียนอยู่ 1 ปี ก็ปรากฏว่ามีทุนของกระทรวงศึกษาธิการสำหรับนักเรียนที่จบม. 8 เป็น ม.6 ของสมัยนี้ สมัยนั้นเรียก ม.8 ก็มีอยู่ 5 ทุน การสอบเขาก็เลือกจากผู้ที่สอบได้ที่ 1-50 ของประเทศไทยแล้วไปสอบแข่งขันกันอีกครั้งหนึ่ง ทุนนี้เป็นทุนตามความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ เผอิญผมสอบได้และได้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ จึงต้องออกจากจุฬาฯ หลังจากเรียนปี 1 ที่จุฬาฯแล้ว
ผมไปเรียนที่อังกฤษต้องเตรียมตัว 2 ปี เพื่อที่จะเข้ามหาวิทยาลัยเพราะว่าต้องเตรียมทั้งเรื่องภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเขาเรียนสูงกว่าที่เมืองไทยค่อนข้างมาก และก็ได้เข้าศึกษาที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่ King’s College มหาวิทยาลัยลอนดอน ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนตอนนั้นที่ผมเข้าไปมีนักศึกษาต่างชาติน้อยมาก ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ตอนนั้นมี 2 คน มีผมเป็นคนไทย อีกคนหนึ่งเป็นชาวปากีสถาน นอกนั้นเป็นคนอังกฤษทั้งหมด ต้องเรียนแข่งขันกับพวกนักเรียนอังกฤษอย่างเต็มที่ หลักสูตรปริญญาตรีที่นั่นก็แค่ 3 ปี ซึ่งผมจบระดับปริญญาตรีในปี ค.ศ. 1960 ก็ขอเรียนต่อปริญญาโท ในระหว่างที่เรียนต่อปริญญาโท ผลงานก็ค่อนข้างดีจึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเรียนปริญญาโท ให้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกได้เลย ทำวิจัยอยู่จนปี ค.ศ. 1964 จึงสำเร็จการศึกษา
ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษก็ได้ทำกิจกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวกับสมาคม “สามัคคีสมาคมในพระบรมราชินูปถัมป์” เป็นสมาคมที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งขึ้นสมัยที่ท่านไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ท่านตั้งชื่อว่าสามัคคีสมาคมเพื่อที่จะให้คนไทยที่อยู่ที่ประเทศอังกฤษได้อยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดความสามัคคี ในสมัยที่ผมไปเรียนที่นั่นก็มีนักเรียนไทยที่ไปเรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษประมาณ 700-800 คน ซึ่งเกือบจะถือว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้เพราะอเมริกาในขณะนั้นยังมีนักเรียนไทยไม่ค่อยมากนัก ผมเป็นกรรมการของสมาคมหลายตำแหน่ง เป็นทั้งนายทะเบียน เลขาฯ เหรัญญิก สุดท้ายก็เป็นสภานายกของสมาคม ได้รู้จักนักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษค่อนข้างมาก นับเป็นประโยชน์กับชีวิตการทำงานในระยะต่อมา
ผมกลับมาเมืองไทยในปี ค.ศ. 1964 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2507 มารายงานตัวที่ ก.พ. แล้ว ก.พ. ก็ส่งผมไปที่กระทรวงศึกษาธิการเพราะเป็นเจ้าของทุน กระทรวงศึกษาฯ ส่งผมไปที่กรมอาชีวศึกษา กรมอาชีวศึกษาก็ส่งผมมาที่วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี วันแรกผมขับรถเข้ามาที่นี่ เขาบอกว่ามาถึง กม. 9 จากวงเวียนใหญ่ก็ให้เลี้ยวขวาเข้ามาถนนสุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์สมัยโน้นก็ลาดยางแล้วนะ แต่สองเลนและสองฟากถนนมีลำรางทั้งสองฟาก มีรถวิ่งน้อย ตอนนั้นผมยืมรถ VOLVO ของเพื่อนเข้ามามันก็ค่อนข้างที่จะใหม่ดีอยู่ พอเห็นถนนก็คิดว่าตายละทีนี้ ดินลูกรังขรุขระน่าดู เจอสะพานแยะ เป็นสะพานไม้ทั้งนั้น แล้วก็ข้ามมาไม่รู้สะพานมันจะยุบหรือเปล่า ก็เข้ามาจนถึงวิทยาลัย วันนั้นเข้ามาถึงตอนบ่าย เขากำลังเลี้ยงส่งผู้อำนวยการของวิทยาลัยไปศึกษาต่อที่อเมริกา กำลังเลี้ยงชา กาแฟกันอยู่ที่โรงอาหารก็เลยเข้าไปรายงานตัวกับผู้อำนวยการในตอนที่เขากำลังเลี้ยงส่งท่าน วันต่อมาก็มารายงานตัวเข้าทำงาน เขาก็ให้ตำแหน่งครูโทแล้วยังบอกว่าให้เป็นหัวหน้าคณะวิชาเครื่องกล หัวหน้าวิชาเครื่องกลนี้ก็หมายความว่ามี 2 แผนกวิชา มีแผนกวิชาช่างยนต์ที่เป็นแผนกวิชาหลักอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิค และมีแผนกวิชาช่างโลหะอีกแผนกหนึ่งซึ่งต้องคุม 2 แผนกวิชา จึงศึกษาว่าทำไมถึงเป็นหัวหน้าคณะวิชาเลย ปรากฏว่าวิทยาลัยขาดแคลนอาจารย์อย่างมาก ก่อนผมมามีอาจารย์ปริญญาเอกท่านหนึ่งเป็นนักเรียนทุนกระทรวงศึกษาฯ เหมือนกันคือ ดร. นาถ ตันฑวิรุฬห์ ท่านเป็นหัวหน้าคณะวิชาช่างไฟฟ้า เขาเป็นรุ่นพี่สัก 2 ปี และมีนักเรียนทุนกระทรวงศึกษาฯ อีกท่านหนึ่ง วุฒิปริญญาโท ท่านเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการซึ่งเป็นหัวหน้าของผม คืออาจารย์สุนทร ศรีนิลทา นอกนั้นในคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็จะมีอาจารย์วุฒิ ปวส. เป็นหลัก เพราะตอนนั้นประเทศไทยขาดแคลนอาจารย์ครูทางด้านช่างเป็นอย่างมาก ผมต้องมาอยู่ที่นี่น่าจะเป็นเพราะว่า ตอนที่ผมไปเขาอาจจะตั้งใจให้ผมอยู่ที่จุฬาฯ ก็ได้เพราะก่อนที่ผมจะไปศึกษาต่อในปี พ.ศ. 2498 จุฬาฯ อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการแล้วก็มีคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่ด้วย ตอนนั้น ดร. นาถ และ อาจารย์สุนทร คงอยากให้ไปอยู่ที่จุฬาฯ แต่เมื่อกลับมาแล้วปรากฏว่าจุฬาฯ ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแล้ว จึงมีอาจารย์วุฒิสูงๆ มาอยู่ในสังกัดกรมอาชีวศึกษาเยอะแยะ
ผมต้องมาอยู่ที่นี่เพราะได้รับทุนของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงศึกษาธิการก็มีการสอนการช่างอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิค ตอนที่ผมมานั้นวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีก่อตั้งมาได้สัก 4 ปี วิทยาลัยฯ นี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2503 นักศึกษารุ่นที่ 1 จบไปแล้ว ผมมาทันรุ่นที่ 2, 3 ในช่วงนั้นวิทยาลัยฯ ยังไม่ค่อยมีอะไร อาคารเรียนก็เป็นอาคารไม้ เดี๋ยวนี้รื้อออกไปแล้ว ห้องทำงานของผู้อำนวยการ ห้องสมุด อะไรต่อะไรก็อยู่ในอาคารเรียนนั้นหมด ค่อนข้างจะขัดสนอยู่มากๆ ก่อนที่ผมจะกลับมาก็มีโรงประลองอยู่แล้ว 2 โรงที่เราเห็นอยู่ปัจจุบันก็คือเครื่องกลกับอุตสาหการ ตอนผมมาเป็นหัวหน้าคณะก็มานั่งรวมกับอาจารย์ในแผนกช่างยนต์ แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง อาจารย์ทุกคนนั่งกันอยู่ในห้องนั้น ไม่มีห้องส่วนตัวเลย ใครที่มาไม่มาก็จะเห็นหน้ากัน แล้วก็มีการปรึกษาหารือกันได้ตลอดเวลา สามัคคีกลมเกลียวกัน
การทำงานในสมัยนั้นปรากฏว่าเขาได้สร้างระบบมาค่อนข้างดี น่าแปลกใจว่าเราเป็นวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่ใช้ระบบหน่วยกิต ทั้งๆ ที่เพิ่งเปลี่ยนเป็นระบบหน่วยกิตก่อนผมมาไม่กี่ปี ระบบนี้ที่อังกฤษก็ยังไม่ใช้ เมื่อศึกษาดูเห็นว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องระบบหน่วยกิตนัก ระบบหน่วยกิตมีการให้เกรด A, B, C, D, E, F อาจารย์บางท่านถ้าจะให้ A ต้องได้เกิน 90% B ก็ต้องเกิน 80% ผมก็บอกว่าแย่ เด็กคงตกกันหมด จึงมีการอบรมอาจารย์กันแล้วก็ไปเชิญผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยประสานมิตรซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นมหาวิทยาลัยมาสอนการตัดเกรด โอ้ยกว่าจะเข้าใจการตัดเกรดต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะอาจารย์แทบทั้งหมดไม่เคยเจอระบบหน่วยกิตนอกจากคนที่จบจากอเมริกามาซึ่งที่วิทยาลัยเทคนิคธนบุรีตอนนั้นมีสักคนสองคน
ภายในวิทยาลัยก็มีวินัยค่อนข้างจะดีมาก มาทำงานก็ต้องมาเซ็นเวลาทุกคน เซ็นเวลาให้ตรงด้วย พอถึงเวลาพักก็มีขีดเส้นแดง เดินทางมาก็แสนลำบากกว่าจะมาถึงที่นี่ ทุกคนต้องตื่นแต่เช้า รถเมล์ที่จะเข้ามาจากปากซอยมาถึงในนี้ก็ยังไม่มี นั่งรถสองแถวหรือรถอะไรก็ไม่ค่อยจะตรงเวลานัก ถ้าถึงฤดูฝนก็ค่อนข้างลำบาก แต่ท่านอาจารย์และเจ้าหน้าที่สมัยโน้นก็ค่อนข้างจะสามัคคีกลมเกลียวเห็นอกเห็นใจกันดี ถ้าใครมีรถยนต์ขับเข้ามาเห็นพนักงานหรือครูหรือใครก็ตามรวมทั้งนักศึกษายืนรอรถอยู่ที่ปากซอยก็จะรับเข้ามาจนเต็มรถ ซึ่งทำให้ความรู้สึกสัมพันธ์ระหว่างกันสมัยโน้นค่อนข้างจะดีมากแล้วเราก็ทำงานกันอย่างที่เรียกว่าค่อนข้างจะจริงจัง ขยันขันแข็ง ผมมาแค่ปีที่หนึ่ง ยังไม่ถึงปีก็โชคดีมี ดร.หริส มาอยู่ที่นี่ด้วย ซึ่งผมถือว่าเป็นบุญของมหาวิทยาลัยที่ได้ท่านมาทำงานที่นี่ ท่านเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกับผม จริงๆ แล้วท่านเป็นรุ่นพี่หนึ่งปี ท่านจบ ม.8 ก่อนผมหนึ่งปี แต่เผอิญท่านกลับมาหลังผม 6 เดือน จึงมาเป็นลูกน้องผม ท่านทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนกช่างโลหะที่สังกัดอยู่ในคณะวิชาช่างกล ท่านเป็นกำลังที่สำคัญ หลังจากนั้นอีกสักปีกว่าๆ ก็มีอาจารย์จบวิศวกรรมเครื่องกล ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ มาอยู่ด้วย ผมคิดว่าก็เป็นโชคดีของมหาวิทยาลัยที่ได้ ดร.ปรีดา เข้ามา ดร.ปรีดา เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงศึกษาธิการเหมือนกัน กระทรวงศึกษาธิการส่งไปตอนนั้นเตรียมไว้สำหรับมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ พอกลับมาไม่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงมาอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคกัน
เมื่อ ดร.ปรีดา กลับมา ภาควิศวกรรมเครื่องกลของวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีมี ดร. ทางวิศวกรรมเครื่องกลตั้ง 3 คน จุฬาฯ มีอยู่คนเดียว จุฬาฯ ก็คลาดแคลนเหมือนกัน ปริญญาเอกมีคนเดียว ปริญญาโทคนเดียว นอกนั้นเป็นอาจารย์ปริญญาตรีทั้งนั้น เขาก็มาขอให้ผมไปช่วยสอนพิเศษอยู่พอสมควร ผมมาอยู่แค่ปีเศษๆ เราก็เห็นว่าวิทยาลัยเทคนิคขาดแคลนอาจารย์อย่างมาก จะหาครู อาจารย์ที่จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์มาสอนก็ไม่มีใครมาเพราะประเทศขาดวิศวกร ขาดช่างอยู่มาก ถ้าจบปริญญาตรีแล้วไปราชการให้ 900 บาท ถ้าออกไปเอกชน ก็เพิ่มเกือบสิบเท่าตัว ใครจะมาเป็นครู อาจารย์ ผมเองมาถึงก็ได้รับ 2,200 บาท แต่ก็มีคนมาชวนผมเหมือนกันโดยจะให้ 20,000 บาท ก็น่าสนใจ แถมบอกว่าเดี๋ยวผมจะใช้หนี้ที่คุณเป็นหนี้ราชการก่อนแล้วคุณค่อยผ่อนทีหลัง สมัยก่อนนี้เราเซ็นสัญญากับทางราชการค่อนข้างจะสบาย ผมไปเรียนเกือบ 10 ปี ใช้เงินไปราวๆ 36,000 บาท เดี๋ยวนี้ปีหนึ่งเค้าใช้กันเป็นล้านแล้วก็ใช้คืนเท่ากับที่เอาไป อย่างนี้ก็สบายดี ไปทำงานกับเขา เขาใช้หนี้ให้ก่อน เขาจ่ายมาให้ 20,000 บาท แล้วสมมติว่าเขาหัก 15,000 บาท ผมก็ยังเหลือใช้ตั้ง 5,000 บาท ไม่นานผมก็ใช้หนี้หมดแล้ว ผมเชื่อว่านักเรียนทุน ดร.หริส ดร.ปรีดา คงจะได้รับการติดต่อคล้ายๆ กัน แต่เมื่อเรามาเห็นสภาพของการศึกษา ถ้าเราออกกันไปหมดแล้วใครจะผลิตคนมารับใช้ประเทศ และระหว่างที่มาอยู่เราก็ชักชวนอาจารย์คนโน้นคนนี้มา ถ้าตัวเองออกไปเสียก็จะขายหน้า
ในเรื่องการขาดแคลนครู เราได้รับการช่วยเหลือจากยูเนสโก้ซึ่งเสนอว่าน่าจะผลิตครูช่าง จึงมาทำโครงการ มาอยู่แค่ปีเศษๆ ก็ทำโครงการกัน มี ดร.หริส ผม ดร.ปรีดา อาจจะมีอาจารย์รุ่นหลังบ้าง ทำหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง ให้เรียนต่อจาก ปวส. 2 ปี แล้วก็ได้ประกาศนียบัตรไป เราขอให้ กพ.ให้การสนับสนุน กพ.ในสมัยนั้นดีมาก เขาเห็นความสำคัญก็สนับสนุนและตีราคาวุฒินี้ค่อนข้างสูง สูงยิ่งกว่าปริญญาตรี เพราะถือว่าเรียน 5 ปีหลังจากจบ ม. 6 ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ตอนนั้นได้ 900 บาท แต่นี่ได้ 1,100 บาท สูงกว่าสถาปัตย์ 5 ปีอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดสอนในระดับปริญญา ในสมัยโน้นการศึกษาก็เน้นเรื่องการผลิตคน ส่วนเรื่องการวิจัยหรืออะไรต่ออะไรยังคิดไม่ไหวเพราะว่าครูแต่ละคนต้องมีโหลดการสอนกันอย่างเต็มที่ ผมเองเป็นผู้บริหารแล้วก็ยังต้องสอนหลายวิชา เช่น Fluid Mechanics, Thermodynamics วิชาอะไรต่ออะไรก็สอนหมด แม้แต่ภาษาอังกฤษก็ยังต้องสอนเพราะว่าผู้อำนวยการมอบหมาย ท่านสอนกันอาทิตย์ละหลายชั่วโมง ทุกคนก็เป็นเช่นนั้น เรื่องที่จะทำการวิจัยพัฒนา...มันไม่มีเวลากันในช่วงนั้นแล้วเงินก็ไม่มีให้ด้วยซ้ำไป
เราทำมาจนถึงปี พ.ศ. 2511 น่าจะจบสถานะของวิทยาลัยเป็นสถาบันเทคโนโลยี ตอนนั้นก็ให้ ดร. หริส เป็นผู้ดำเนินการเพราะท่านจบจาก MIT มา ก็จะทำในรูปแบบคล้ายๆ กับ MIT ตอนที่เริ่มโครงการก็มีวิทยาลัยเทคนิคอื่น วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคม ก็ดำเนินการที่จะเป็นสถาบันด้วย และผลสุดท้ายกระทรวงก็ให้ 3 แห่งมารวมกันเป็นสถาบันเดียว ทำเรื่องร่างพระราชบัญญัติ ร่างหลักสูตร เพื่อที่จะเป็นสถาบัน ก็ต่อสู้กันอยู่นาน ในสมัยโน้นเป็นสมัยที่จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรี ผลสุดท้ายก็ได้รับการอนุมัติให้เป็นสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า โดยรวม 3 แห่งเข้าด้วยกัน โดยแบ่งเป็นวิทยาเขตธนบุรี พระนครเหนือ แล้วก็เจ้าคุณทหารลาดกระบังโดยรวม 2 วิทยาลัย ประกอบด้วยคมนาคมกับวิทยาลัยก่อสร้างซึ่งอยู่แถบบางพลัดและวิทยาลัยเกษตรของเจ้าคุณทหารไปรวมอยู่ที่ลาดกระบังเพราะว่าวิทยาลัยเกษตรของเจ้าคุณทหารใช้พื้นที่อยู่แถวนั้นด้วยส่วนหนึ่ง นี่เป็นสมัยเริ่มต้นซึ่งผมเรียกว่าเป็นสมัยที่ 2 ก็ได้
สมัยแรกผมว่าเป็นช่วงที่เราไปอยู่กับกรมอาชีวศึกษา สมัยนั้นค่อนข้างจะอัตคัตขัดสนในแง่ที่ว่าวิทยาลัยอยู่กับกรมอาชีวศึกษาแล้วยังต้องไปอยู่ในสังกัดของกองวิทยาลัยเทคนิค งบประมาณที่ได้มามีจำกัด อาคารสมัยนั้นกว่าที่จะได้มาหลังหนึ่งก็ 4 - 5 แสนบาท แต่ 4 - 5 แสนบาทในสมัยนั้นก็มากพอสมควร ผมอยากจะพูดในแง่ของการเปรียบเทียบว่า ถ้าเราได้ 4 -5 แสนบาทแล้วทำไมมหาวิทยาลัยถึงได้มากกว่านั้น ถ้าเทียบต่อหัวนักศึกษาสมมติว่าเราได้ สี่พัน ห้าพัน ทำไมเขาได้เป็นหมื่น แบบนี้ผมว่ามันทำงานแข่งขันกันค่อนข้างยาก แต่เราก็มุ่งมั่นกันอย่างยิ่ง อยากจะเล่าสักนิดหนึ่งว่าก่อนที่จะมาเป็นสถาบัน ตอนที่เราไปได้ประกาศนียบัตรเทคนิคขั้นสูง เราผลิตครูให้มีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับวิศวกรแต่ให้มีความรู้ทางปฏิบัติและความรู้ในการสอนเพิ่มขึ้นด้วย ในสมัยนั้นมี กว.แล้ว เข้าใจว่า กว. เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 แต่บังคับใช้หลังจากนั้นหลายปีเหมือนกันประมาณ 4-5 ปี เราต้องต่อสู้อย่างมากเพื่อที่จะให้ผู้ที่จบ ปทส. ของเรามีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกับวิศวกร เพราะหลักสูตรที่เราเรียนน่าจะมีมากกว่าปริญญาตรีของวิศวกรอีก การที่จะทำให้ได้ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมด้วยก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันมาก แม้จะไปเป็นสมาชิกของวิศวกรรมสถานก็ยังบอกว่าคุณยังไม่ได้ปริญญาเพราะว่าไม่ใช่ปริญญาบัตร มันเป็นประกาศนียบัตร ดร.หริส ผม ดร.ปรีดา ต้องชี้แจงกันมากมายจนเราคิดจะตั้งสมาคมขึ้นมาเองด้วยซ้ำไป เพราะว่า กว. สมัยโน้นกำหนดว่าถ้าคุณจะมาเอาใบประกอบวิชาชีพของ กว. ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพทางวิศวกรรมหนึ่งสมาคมด้วย และตอนนั้นก็มี วสท. เพียงที่เดียว แต่ผลสุดท้ายพวกเราก็สมัครเป็นกรรมการโดยมี ดร.หริส ผม แล้วก็มีท่านอธิการบดีพงศ์ศักดิ์ด้วย เราได้เป็นกรรมการ เมื่อได้เป็นกรรมการแล้วมันก็ง่ายขึ้น ชี้แจงอะไรก็สะดวกขึ้น ทำให้ได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกของ วสท. กว.ก็รับรองหลักสูตรให้ใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้
อีกยุคหนี่ง ตอนนั้นรวมกันอยู่ 3 แห่ง 3 วิทยาเขต มีลาดกระบัง พระนครเหนือ และที่นี่ แต่ยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ฐานะต่างๆ ก็ดีขึ้น เราให้ปริญญาได้แล้วแต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนน้อยกว่าที่มหาวิทยาลัยได้รับ อาจารย์ก็ยังขาดแคลนกันมาก อาจารย์ที่มีอยู่ต้องทำงานหนักมาก อาศัยใบบุญที่กระทรวงศึกษาธิการเก็บทุนเอาไว้ ทุนที่เก็บไว้ให้มหาวิทยาลัยในสังกัดแต่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยออกไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยโน้น เราจึงได้นักเรียนทุนที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมไว้สำหรับมหาวิทยาลัยนั้นมาอยู่กับเรา ก็ได้อาจารย์ ดร.วุฑฒิ ดร.กฤษณพงศ์ และอีกหลายท่านกลับมาอยู่กับเรา แต่บางท่านอยู่กับเราไม่นานก็ไปอยู่อุตสาหกรรมเพราะปัญหาเศรษฐกิจ เงินเดือนมันต่างกันมาก ตัวอย่างภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าของเราควรจะไปได้ดีถ้ามีอาจารย์กลับมาอยู่กับเราครบถ้วน แต่ปรากฏว่าวิศวกรรมไฟฟ้านี้ demand ทางอุตสาหกรรมต้องการมากเลยทำให้ท่านออกไปหลายคนด้วยกัน วิศวกรรมเครื่องกลออกไปน้อยหน่อยก็เลยมีอาจารย์พร้อมกว่าไฟฟ้า วิศวกรรมเคมีก็มีอาจารย์กลับมาแยะ ออกไปบ้าง
ในยุคแรกๆ ที่เราเป็นสถาบันก็ค่อนข้างหนักใจมาก การทำงานวิจัยก็ทำได้ยากเพราะว่าต้องสอนกันคนละเยอะแยะและงบประมาณที่ได้ก็ไม่มาก อย่างไรก็ตามงานวิจัยพัฒนาที่พวกเราทำเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นหรือถ้าเทียบจากจำนวนคณาจารย์ที่มีวุฒิสูงๆ กัน ผมคิดว่าเราไม่ได้ด้อยกว่าที่อื่น แต่งานวิจัยของประเทศเรานี้ ผมว่าเพิ่งจะเริ่มกันจริงๆ เมื่อไม่ถึง 20 ปีนี้เองเมื่อเรามีคณาจารย์มากขึ้น เราอยู่ร่วมกัน 3 แห่งก็นานพอสมควรรู้สึกว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 – 2517 โดยอยู่ในสังกัดกระทรวศึกษาธิการ จาก พ.ศ. 2517 เราก็ย้ายไปอยู่กับทบวงมหาวิทยาลัย ตอนย้ายไปอยู่กับทบวงฯ นี้ ฐานะก็ดีขึ้นอีกหน่อยเพราะถือว่าสังกัดเดียวกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ตอนนั้นเราก็ยังเป็น 3 วิทยาเขตในสถาบันเดียวกัน จนกระทั่งปี พ.ศ.2528 หลังจากที่ท่านอธิการบดีพงศ์ศักดิ์เสียชีวิต ท่านที่เป็นรองอธิการบดีที่พระนครเหนือก็มาเป็นอธิการบดีอยู่สมัยหนึ่ง พอสมัยที่ 2 ก็เกิดวิกฤตว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ผลสุดท้ายท่านก็ลาออก เราก็ร่าง พรบ. แยกออกมาเป็น 3 สถาบันอิสระ แต่ก็ยังใช้พระราชบัญญัติเดียวกันอยู่ ซึ่งช่วยได้มากในเรื่องที่ว่าแต่ละแห่งเป็นนิติบุคคล แต่เดิมมีอธิการบดีคนเดียว สำนักงานอธิการบดีอยู่ที่ถนนศรีอยุธยา ทำอะไรก็ต้องไปผ่านอธิการบดีที่ฝ่ายกลาง เมื่อแยกออกมาเป็น 3 แห่งก็แบ่งทรัพย์สินกัน และมีอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก็ถือว่าเป็น 3 มหาวิทยาลัย ทำให้มีอิสระมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดีขึ้น ถือเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีคณาจารย์เพิ่มมากขึ้นพอสมควร
หลังจากเกิด รสช. มีการพูดถึงการที่จะให้มหาวิทยาลัยแยกเป็นอิสระในสมัยท่านนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน มหาวิทยาลัยของเราก็ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถดำเนินการแยกออกมา หมายถึง ปรับเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาลได้ ซึ่งในการดำเนินการนี้ต้องยกย่องชมเชย ดร.หริส ที่ได้พยายามชี้แจงต่อสู้เป็นเวลานาน วิ่งเต้นดำเนินการให้รัฐบาล สำนักงบประมาณ ให้การสนับสนุนด้วยความเชื่อในหลักการว่าจะเป็นผลดีกับมหาวิทยาลัยและผลสุดท้ายเราก็ได้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีของเราเอง ผมคิดว่าเป็นที่พอใจของบุคลากรในมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่ก็ออกมาเป็นพนักงานแล้ว คนที่ยังไม่ออกก็คงรอให้ได้บำนาญ รอให้ได้สายสะพาย อะไรต่างๆ เสียก่อน
ในช่วงที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับมีการพัฒนาไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการสอน การวิจัย จะเห็นได้ว่า ขณะนี้เรามีนักศึกษา 13,000 คน เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกเสียร่วม 5,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว ผมเชื่อว่าเราสามารถดำเนินการให้ก้าวหน้าต่อไปได้ดีขึ้น โดยเรามีสภามหาวิทยาลัยที่เข้มแข็งมากๆ ในการกำกับดูแลสนับสนุนการทำงานของผู้บริหาร
ความประทับใจของผมเกี่ยวกับการทำงานที่มหาวิทยาลัยนี้ก็มีโดยเฉพาะในยุคแรกๆ ยุคที่เราลำบากมากๆ อาจารย์พนักงานมีความสามัคคีกลมเกลียวกันอย่างมาก ผมเองเป็นหัวหน้าอยู่ค่อนข้างนาน เป็นรองอธิการบดีอยู่ 20 กว่าปี รองอธิการบดีก็ถือว่าเป็นหัวหน้าของที่นี่ในสมัยโน้น เราทุ่มเททำงานกันด้วยความเสียสละเต็มที่ และผมเชื่อว่า การมีคนเก่ง มีคนที่มีวุฒิสูงๆ อยู่มาก แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้ง จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ในการทำงานผมว่าต้องมีคนที่มีความรู้ความสามารถแล้วก็ต้องมีความสามัคคีร่วมมือกันด้วย จะเห็นว่า การทำงานตั้งแต่ต้นมาจนถึงตอนนี้ของมหาวิทยาลัย เราสามัคคีกันด้วยดีมาตลอด ไอ้เรื่องทะเลาะเบาะแว้งแก่งแย่งหรือโจมตีกันมีน้อยมากๆ ขอให้มีความสามัคคีกันต่อๆไปนะครับ
ผมต้องขอบคุณ อาจารย์ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ที่ให้ความร่วมมือกับผมด้วยดีตลอดมา พูดจากันรู้เรื่อง เวลาจำเป็นที่จะต้องช่วยกันให้งานสำเร็จก็ร่วมมือกันด้วยดี ด้วยความเต็มใจ สมัยก่อนทุกคนเกือบจะรู้จักกันหมด แม้แต่นักศึกษาก็ยังรู้จักชื่อนักศึกษาเยอะแยะ เมื่อได้อาจารย์ใหม่มาคนหนึ่ง ผมเป็นหัวหน้าก็ต้องเชิญมาพบ พูดคุยกัน มารู้จักกันก่อน เดี๋ยวนี้เยอะมากจนไม่รู้จัก ภาควิชาเครื่องกลและภาควิชาอื่นก็ไม่ค่อยรู้จักกัน แต่ภาควิชาเครื่องกลนี้ผมจะสนิทหน่อยเพราะว่าผมสอนให้เขา เดี๋ยวนี้มีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกหลายสิบคนแล้วก็น่าดีใจที่ว่าเขาเป็นศิษย์เก่าของที่นี่ สามารถไปเรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยซึ่งเรียกว่ามีชื่อเสียงระดับต้นๆ ของโลก อย่างที่อิมพีเรียล คอลเล็จ MIT โตเกียว ออสเตรเลีย เยอรมัน-อันโนเวอร์ ก็แสดงว่าพวกที่จบจากเรานี้มีคุณภาพ สามารถไปเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแล้วมาเป็นอาจารย์ที่นี่ ผมก็ดีใจที่ได้มาทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีตั้งแต่ต้นจนเกษียณ เกษียณแล้วก็ยังมาเป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาของสภามหาวิทยาลัยจนปัจจุบัน และดีใจที่ได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยที่ดำเนินมาด้วยดี อยากเห็นการพัฒนามหาวิทยาลัยในแนวทางที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสภามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ ดร.หริส ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนี้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งทางด้านเทคโนโลยีในอาเซียน ซึ่งในช่วงที่เราทำมานี้ก็ก้าวหน้าไปเยอะ ถ้าเรามุ่งมั่นทำต่อไปและได้รับความร่วมมือจากทุกๆ คนก็น่าจะไปถึงเป้าหมายในอีกไม่ช้านี้